วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกเดี๋ยวจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC แล้ว เชื่อว่าทุกธุรกิจคงต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นอีกเป็นหลายเท่า เพราะการรวมประเทศครั้งนี้จะส่งผลให้มีจำนวนประชากรจำนวนมากมายถึง 600 ล้านคน
สำหรับภาคขนส่งด้วยรถบัสโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ก็ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะเดินหน้าพัฒนา ล่าสุดกรมการขนส่งทางบก เป็นเจ้าภาพงานสัมมนา "โครงการพัฒนาความรู้และประสบการณ์ด้านความปลอดภัยในการขนส่งด้วยรถบัสโดยสารสาธารณะในอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)" เพื่อเดินหน้าพัฒนาศักยภาพการบริการขนส่งด้วยรถบัสโดยสารสาธารณะ
คุณอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวจะให้ความรูและประสบการณ์จาการศึกษาดูงานภายในอาเซียนทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สาธารณรัฐสังความนิยมเวียดนาม, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, สาธารณรัฐสิงคโปร์ และประเทศมาเลเซีย มาถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการขนส่งได้นำไปใช้ในการพัฒนากิจการรถบัสโดยสารสาธารณะให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อศึกษาช่องทางในการเดินรถบัสโดยสารระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี จำนวนสถิติจำนวนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 พบว่ามีผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบัสโดยสารสาธารณะจำนวน 16,170 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการขนส่งรถบัสโดยสารไม่ประจำทางจำนวน 14,675 ราย และผู้ประกอบการขนส่งรถบัสโดยสารประจำทาง จำนวน 1,495 ราย ซึ่งกรมฯมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล และพัฒนาส่งเสริมการขนส่งด้วยรถบัสโดยสารให้มีความปลอดภัย ความสะดวก และเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ จึงได้เล็งเห็นว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบัสโดยสารของไทยจะต้องมีการปรับตัวและพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสม
"เพื่อเตรียมพร้อมรับ AEC เราต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฏระเบียบ ความปลอดภัยในการจัดการเดินรสบัสโดยสารสาธารณะ รวมทั้งการเรียนรู้วัฒนธรรมด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศต่างๆในอาเซียน เนื่องจากการเดินทางสัญจรของประชากรในกลุ่มอาเซียนจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในอนาคต"
ด้าน คุณวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทั่วไทย กล่าวว่า การเปิด AEC มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากเราสามารถปรับตัวได้ก่อน เรียนรู้ที่จะใช้โอกาส จากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ก่อน ย่อมสร้างความได้เปรียบให้กับเรา ทั้งนี้ นักธุรกิจไทยจะต้องปรับตัวและศึกษาเสาะหาแหล่งวัตถุดิบใน AEC ศึกษารสนิยมความต้องการใน AEC ดูความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิตที่สำคัญต้องหันมามอง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนม่าร์ และเวียดนาม) โดยวิสัยทัศน์ใหม่ ทั้งนี้ ต้องพัฒนาปรับตัวระบบต่างๆ ของบริษัทให้ใช้ประโยชน์โลจิสติกส์เต็มที่ รวมทั้งศึกษาเสาะหาความเป็นไปได้การตั้งธุรกิจการใช้แรงงานจาก AEC เพื่อเปิดและเจาะตลาดคู่ค้าของอาเซียน
ขณะที่ คุณสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารเครือชัยพัฒนาเชียงใหม่ บอกว่า เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนลุย AEC ซึ่งการลุยไม่ได้หมายความว่าต้องแข่งขัน เราต้องหาพันธมิตรเอาไว้เพราะถ้ามีพวกพ้องการดำเนินธุรกิจต่างๆ ก็จะทำได้ง่าย ทั้งนี้ ต้องสร้างแรงบันดาลใจว่าธุรกิจเราจะเติบโตขึ้นไปอีก เนื่องจากประชากรชาติอาเซียนมีมากถึง 600 ล้านคน ตรงนี้จะเป็นช่องทางให้สามารถมีส่วนแบ่งทางการตลาดได้อีกมาก
"การทำแผนกลยุทธ์เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะได้รู้ว่าเรามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร และความสามารถของเราขะสามารถออกไปดำเนินธุรกิจในชาติอาเซียนได้หรือไม่ ถ้าไปได้เราต้องหาทางปิดจุดอ่อนของเรา และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือเรื่องคน เพราะการฝึกฝนคนไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายๆ และควรมีองค์กรความรู้ในประเทศนั้นๆด้วย ฉะนั้นใครที่มองเห็นจุดต่างได้ดีที่สุดจะได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจในยุค AEC"
|